ปลูกทุเรียนภาคอีสาน ตอน 3 | 5 วิธีรับมือกับฤดูแล้ง
ปลูกทุเรียนภาคอีสานตอนที่ 3 เสนอ 5 วิธีรับมือฤดูแล้ง
ในช่วงฤดูแล้งที่ภาคอีสาน ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวในช่วงเช้า สลับกับอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน
ทำให้ทุเรียนที่ปลูกใหม่มีอาการโทรม ใบเหลืองได้ ดังนั้น เกษตรกรควรรับมือด้วย 5 วิธี ดังนี้
1) การให้น้ำสม่ำเสมอ : ต้องสำรวจความชื้นในดินก่อนว่าดินอุ้มน้ำได้มาก/ น้อยเพียงใด เพื่อให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม
อย่างน้อยประมาณ 20-30 ลิตร/วัน โดยควรให้ทุกวันตอนเช้า เพื่อให้ต้นทุเรียนสามารถนำน้ำไปปรุงอาหารได้ในช่วงกลางวัน
2) รักษาความชื้นในดิน : คลุมดินบริเวณทรงพุ่มทุเรียนเพื่อรักษาความชื้นในดิน ป้องกันดินบริเวณโคนแห้งแตกจากการโดนความร้อนจากแสงแดดจัด วิธีการคือ
2.1) สำหรับทุเรียนปลูกใหม่ สามารถใช้ฟางกับหญ้าแห้ง
2.2) ทุเรียน 2-3 ปี ใช้ต้นกล้วย ตัดเป็นส่วนๆ และวางรอบๆโคนได้
นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นดินเหนียวหรือดินร่วนปนทรายไม่ควรคลุมฟาง หรือหญ้าหนาเกินไป เพราะจะทำให้ทุเรียนใบเหลืองและเฉาได้ แต่ในกรณีที่เป็นดินทรายสามารถคลุมหญ้าหนาได้ เพราะดินทรายสูญเสียน้ำได้ง่าย
3) ให้ร่มเงากับทุเรียน : สามารถปลูกพืชให้ร่มเงาหรือใช้สแลน
3.1) ปลูกกล้วย : ปลูกกล้วยหอม,กล้วยเล็บมือนาง,หรือกล้วยไข่ เพื่อให้ร่มแก่ต้นทุเรียน แต่ไม่ควรปลูกกล้วยน้ำว้า,กล้วยตานี,หรือ กล้วยหักมุก เนื่องจากรากกล้วยเหล่านี้จะแข็งและจะเข้ามากวนทุเรียน ถ้าจะต้องการปลูกจริงๆ ควรปลูกห่างต้นทุเรียนอย่างน้อย 2 เมตร
3.2) ปลูกพืชอื่น : ส้มโอ ส้ม มะกรูด หมาก ทองหลางน้ำ (ทองหลางใบมน)
3.3) ใช้สแลน : สำหรับทุเรียนปลูกใหม่ หรือแปลงทุเรียนที่ปลูกไม้ให้ร่มไม่ทัน สามารถใช้สแลนบังร่มได้ โดยกางสแลนบัง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านตะวันออก 2) ตะวันตก 3) เหนือหรือใต้อย่างใดอย่างหนึ่ง (เลือกด้านหนึ่งที่โดนแดดน้อยที่สุด) ไม่ควรกางสแลนปิดด้านบน เพราะจะทำให้ต้นทุเรียนไม่ได้น้ำค้างและยอดทุเรียนจะคุด นอกจากนี้ ควรกางสแลนสูงกว่าพื้นประมาณ 1-2 คืบเพื่อให้ลมผ่านสะดวก
4) การฉีดธาตุอาหารทางใบ :
1) สามารถฉีด "อโทนิค (atonik)"เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้ทุเรียน ทุเรียนจะได้สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้
2) กรณีที่ใบเป็นจุด : พอหมดฤดูฝน เข้าสู่ฤดูหนาวจะเห็นใบเป็นจุดโดยมีขอบเป็นเส้นสีแดง ในภาคอีสานไม่ใช่โรคราใบจุด แต่เป็นอาการขาดสังกะสี ซึ่งเป็นอาการปกติที่อาจจะพบเจอได้ทุกปี และสามารถป้องกันด้วยการฉีดแร่ธาตุสังกะสี (Zinc)
5) การรับมือกับศัตรูพืช : ในภาคอีสานจะแมลงพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ตามไร่มัน และไร่ข้าวโพด เช่น เพลี้ยกระโดด,แมลงปีกแข็งต่างๆ ,เพลี้ยไฟและไรแดง
5.1) แมลงปีกแข็ง : แมลงปีกแข็งจะเข้ามากัดกินต้น ลำต้นจะเป็นรูพรุน หรือกัดใบเป็นรูคู่กัน 2 รู อย่างที่เราพบเก็นได้จากรอยกัดของแมงแมงอีนูน (Cockchafer)ใช้ยาไซเปอร์เมทริน (Cypermethrin)หรือ อะบาเมคติน (Abamectin)
5.2) แมลงปากดูด : เช่น เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยไฟ ไรแดง แนะนำให้ใช้อิมิดาโคลพริด (imidacloprid)หรืออะบาเมคติน (Abamectin)ที่ใช้ฉีดเพลี้ยก็ได้ สำหรับผู้ที่ใช้เคมีนั้น ขอให้ใช้เท่าที่จำเป็น
Last updated : 31/07/2564